ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอริเทรีย

ความสัมพันธ์ทั่วไป 
ไทยและเอริเทรียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2536 (ค.ศ. 1993) โดยความสัมพันธ์ยังห่างเหิน ไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน และยังไม่มีการจัดทำความตกลงใด ๆ ระหว่างกัน ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี มีเขตอาณาครอบคลุมเอริเทรีย ในขณะที่ฝ่ายเอริเทรียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเอริเทรียประจำอินเดีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย และแต่งตั้งให้นายสุนทร เก่งวิบูล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์รัฐเอริเทรียประจำประเทศไทย 

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2550 (ค.ศ. 2007) เรือ อ. ศิริชัยนาวา 9 พร้อมด้วยลูกเรือประมงไทย 25 คน และเจ้าหน้าที่ประมงเยเมน 6 คน รวม 31 คน ซึ่งทำประมงภายใต้สัมปทานประมงของเยเมน ถูกกองทัพเรือ เอริเทรียจับระหว่างเดินทางกลับไปยังท่าเรือ Aden ประเทศเยเมน ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2551(ค.ศ. 2008) ศาลทหารและศาลพิเศษของเอริเทรียได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า เรือลำดังกล่าวเข้าสู่น่านน้ำเอริเทรียและทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาต รัฐบาลไทยได้พยายามติดต่อรัฐบาลเอริเทรียเพื่อให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากรัฐบาลเอริเทรีย จนกระทั่งไทยได้ขอให้รัฐบาลกาตาร์ช่วยเจรจา ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2551 (ค.ศ. 2008) ออท. กาตาร์/ปทท. แจ้งว่า รัฐบาลเอริเทรียยินยอมปล่อยตัวลูกเรือไทยแล้ว และนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ เจ้าของบริษัทฯ ได้เดินทางไปเจรจาและจ่ายค่าปรับกับรัฐบาลเอริเทรีย 

เศรษฐกิจ 
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเอริเทรียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2553 (ค.ศ. 2010) การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่า 2.7 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐนำเข้า 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 2.3 แสนดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มเป็น 30.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) และไม่มีการนำเข้าสินค้าจากเอริเทรีย สินค้าที่ส่งออกไปเอริเทรีย คือ น้ำตาลทราย หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก 

แม้ว่าปัจจุบันผลประโยชน์ของไทยในเอริเทรีย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในแอฟริกา แต่ไทยจำเป็นจะต้องรักษาช่องทางการติดต่อและเสริมสร้างความสัมพันธ์มิให้ อยู่ในระดับที่ห่างเหิน เนื่องจากเอริเทรียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน เอริเทรียก็แสวงหาความเข้าใจ ตลอดจนการสนับสนุนทางการเมืองจากไทยในกรอบเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ 

ความตกลงทวิภาคี 
ยังไม่มีความตกลงระหว่างกัน 

การเยือนที่สำคัญ 
ฝ่ายเอริเทรีย
 
เมื่อวันที่ 6-11 สิงหาคม 2552 นายอาเลม เซฮาเย โวลเดมาริอัม (Mr. Alem Tsehaye Woldemariam) เอกอัครราชทูตเอริเทรียประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ที่มา: กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=85#4