ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบุรุนดี

ความสัมพันธ์ทั่วไป
ประเทศไทยและบุรุนดีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2531 (ค.ศ. 1988) โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีมีเขตอาณาครอบคลุมบุรุนดี ในขณะที่ฝ่ายบุรุนดีได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตบุรุนดีประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย 

รัฐบาลไทยมีมติเห็นชอบให้ส่งกองร้อยทหารช่าง 3 ผลัด จำนวนรวม 525 นาย เข้าร่วมในภารกิจ United Nations Operation in Burundi (ONUB) ในนามของสหประชาชาติ โดยปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 – พฤศจิกายน 2549 (ค.ศ. 2004-2006) 

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ 
ภาวะการค้าระหว่างไทยกับบุรุนดีในปัจจุบันยังมีมูลค่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้า ของไทยกับประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกอื่น ๆ ปี 2554 (ค.ศ. 2011) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบุรุนดี มีมูลค่า 1.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 1.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ปรากฏสินค้านำเข้าจากบุรุนดี สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปบุรุนดี ได้แก่ เคหะสิ่งทอ หนังสือและสิ่งพิมพ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 

ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือแก่บุรุนดี ดังนี้ 

(1) ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยารักษาโรคมาลาเรียร่วมกับรัฐบาลบุรุนดี 

(2) เสนอทุนฝึกอบรมให้รัฐบาลบุรุนดีพิจารณาส่งผู้แทนเข้าร่วมในหลายสาขา อาทิ การพัฒนาชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการความยากจน การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการด้านการท่องเที่ยว และสาธารณสุข

(3) ดำเนินการจัดตั้งหน่วยผลิตขาเทียม (Prostheses Production Unit) ในบุรุนดีสำหรับ  อดีตทหารผ่านศึก และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในอดีต โดย สพร. ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

การเยือนระดับสูง

ฝ่ายไทย - ยังไม่มี

ฝ่ายบุรุนดี

(1) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 (ค.ศ. 1999) ประธานาธิบดี Pierre Buyoya    พร้อมด้วยภริยาและคณะ จำนวน 25 คน ได้เดินทางแวะผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงแอดดิสอาบาบา ซึ่งในโอกาสนั้น ฝ่ายไทยได้ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ประธานาธิบดี Buyoya เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้มอบกระเช้าดอกไม้แก่ประธานาธิบดี Buyoya ด้วย 

(2) วันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2553 (ค.ศ. 2010) นาง Rose Gahiru รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาชีวศึกษาและการรู้หนังสือบุรุนดี พร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนไทย เพื่อศึกษาดูงานด้านการฝึกอาชีพ

ที่มา: กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=55#4