ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซเชลส์

ความสัมพันธ์ทั่วไป 
ไทยและเซเชลส์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2531 (ค.ศ. 1988) โดยรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา มีเขตอาณาครอบคลุมเซเชลส์ และแต่งตั้งได้แต่งตั้งให้นาย Joe Chung-Faye ชาวเซเชลส์เชื้อสายจีน ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเซเชลส์ ในขณะเดียวกัน เซเชลส์ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเซเชลส์ ณ กรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และแต่งตั้งให้ นายชาญชัย กรรณสูต เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเซเชลส์ประจำไทย 

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-เซเชลส์ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 (ค.ศ. 2004) ส่งผลกระทบต่อเซเชลส์ โดยทำให้ชาวเซเชลส์เสียชีวิต 3 คน และส่งผลให้กิจการโรงแรมและประมงของเซเชลส์ได้รับความเสียหายประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 2548 (ค.ศ. 2005) ไทยได้จัดการประชุม Tsunami Early Warning Arrangement ในโอกาสนั้น ไทยได้มอบเช็คในนามของรัฐบาลไทย จำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือกรณีธรณีพิบัติภัยแก่เซเชลส์ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เซเชลส์ มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น และเมื่อเดือน ส.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) เอกอัครราชทูตเซเชลส์ ณ กรุงปักกิ่ง เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อถวายลูกปาล์มทะเล (Coco de Mer) สด พร้อมด้วยข้อมูลการปลูก ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูง เนื่องจากรัฐบาลเซเชลส์มีข้อบังคับให้นำเฉพาะผลปาล์มทะเลแห้งออกนอกประเทศได้เท่านั้น 

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ 
มูลค่าการค้ารวม ไทย-เซเชลส์ มีมูลค่าน้อยแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มีมูลค่า 11.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 5.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 6.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุล 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน น้ำตาลทราย รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป 

สายการบิน Air Seychelles เคยมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-กรุงวิกตอเรีย แต่ได้ปิดบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2551 (ค.ศ. 2008) เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน 

บริษัท Thai Union Frozen (TUF) ได้ร่วมลงทุนกับรัฐบาลเซเชลส์ โดยถือหุ้นร้อยละ 60ของบริษัท Indian Ocean Tuna (IOT) ของเซเชลส์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ยี่ห้อ John West 

ขณะนี้ มีคนไทยอยู่ในเซเชลส์ประมาณ 120 คน ส่วนใหญ่ทำงานเป็นพนักงานและแม่ครัวในโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องของบริษัท IOT อีกส่วนทำงานก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทกับบริษัท Sun Jin Engineering ของเกาหลีใต้ ที่เหลือทำงานในร้านอาหารไทย ร้านนวดแผนไทย และสปาตามรีสอร์ทในเซเชลส์ 

ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม 
เมื่อเดือน เม.ย. 2549 (ค.ศ. 2006) รัฐบาลเซเชลส์ได้มอบเต่ายักษ์ 2 ตัวให้เป็นของขวัญแก่รัฐบาลไทย ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี 

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา 
ประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเซเชลส์ในรูปของทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course - AITC) 

การเยือน 
ฝ่ายไทย
 
(1) นายปกศักดิ์ นิลอุบล อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกานำคณะสำรวจข้อเท็จจริงนำเดินทางเยือนเซเชลส์ ระหว่างวันที่ 8-11 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1999) 

(2) นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางเยือนเซเชลส์ ระหว่างวันที่ 1-15 เม.ย. 2542 (ค.ศ. 1999) 

(3) นายเฉลิมพล ทันจิตต์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนเซเชลส์ระหว่างวันที่ 7-11 เม.ย. 2555 (ค.ศ. 2012) เพื่อสำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุน 

(4) พล.อ.ธนศักดิ์  ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เพร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนเซเชลส์ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2555 (ค.ศ. 2012)เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของทหารเรือไทย ที่มาปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม 151 (Combined Task Forces 151-CTF151) 

ฝ่ายเซเชลส์ 
(1) เมื่อวันที่ 7-10 พ.ย. 2533 (ค.ศ. 1990) นาง Danielle de St. Jorre รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการต่างประเทศเซเชลส์เดินทางเยือนไทย และได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับนายอำนวย ยศสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

(2) เมื่อวันที่16-21 พ.ย. 2536 (ค.ศ. 1993) นาย Claude Morel อธิบดีกรมกิจการระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเซเชลส์เดินทางมาร่วมการประชุมใหญ่ประเทศภาคีอนุสัญญากรุงเวียนนา ครั้งที่ 3 และพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ และได้เข้าพบหารือข้อราชการกับนายพิรัฐ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 

(3) เมื่อวันที่ 21-26 ม.ค. 2543 (ค.ศ. 2000) นาย Dalor C. Ernesta รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและทรัพยากรทางทะเลเซเชลส์ พร้อมคณะจำนวน 5 คน ได้เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับ นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

(4) เมื่อเดือน ก.ค. 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Patrick Georges Pillay รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซเชลส์ เดินทางมาเยือนไทยในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าร่วมประชุมโรคเอดส์โลก และมีความชื่นชมต่อการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งแสดงความประสงค์จะเรียนรู้ประสบการณ์จากไทย เพื่อไปปรับใช้กับเซเชลส์ 

(5) เมื่อปี 2548 (ค.ศ. 2005) นาย Jeremie Bonnlame อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซเชลส์ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม Tsunami Early Warning Arrangement ที่ประเทศไทย และได้พบหารือกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี 

(6) เมื่อวันที่ 24-27 ส.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) นาย Phillippe Le Gall เอกอัครราชทูตเซเชลส์ ณ กรุงปักกิ่งได้เดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมน้อมเกล้าฯ ถวายผล Coco de Mer สด และเข้าร่วมพิธีรับรองและลงนามกฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

ที่มา: กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=69#4