ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแทนซาเนีย

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง 
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับแทนซาเนียเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2523 (ค.ศ.1980) โดยฝ่ายไทย ได้มอบหมายให้ สอท. ณ กรุงไนโรบี มีเขตอาณาครอบคลุมแทนซาเนีย ส่วนแทนซาเนียได้มอบหมายให้ สอท. แทนซาเนียประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ระหว่างกัน 

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ 
มูลค่าการค้ารวม ไทย-แทนซาเนีย อยู่ในระดับปานกลาง ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มีมูลค่า 97.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 86.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแทนซาเนีย 11.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้าจำนวน 75.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าหลักของไทยได้แก่ ด้ายและเส้นใย  เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป 

ปัจจุบัน มีบริษัทไทยหลายแห่งมาตั้งฐานการดำเนินธุรกิจในแทนซาเนีย อาทิ บริษัท CPF (ธุรกิจการเลี้ยงไก่ครบวงจร) บริษัท SCT ในเครือ SCG (ธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง และสินค้าอื่นๆ) และบริษัททำเหมืองอัญมณี เนื่องจากแทนซาเนียมีเสถียรภาพทางการเมืองดี มีระบบกฎหมายที่ชัดเจน และมีท่าเรือที่เมืองดาร์ เอส ซาลาม (Dar Es Salaam) เป็นจุดเชื่อมต่อการส่งสินค้าจากต่างประเทศสู่ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล 

ความตกลงทวิภาคี 
ความตกลงที่ลงนามแล้ว 
(1) ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ลงนามเมื่อปี 2549 (ค.ศ. 2006) 
(2) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานและทรัพยากรเหมืองแร่แทนซาเนียและสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ลงนามเมื่อเดือน มี.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) 

ร่างความตกลงที่อยู่ระหว่างการจัดทำ 
(1) ความตกลงด้านการค้า 
(2) ความตกลงโอนตัวนักโทษ 
(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี 

ร่างความตกลงที่ฝ่ายไทยประสงค์จะทำกับแทนซาเนีย 
(1) ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน  

การเยือนที่สำคัญ 
ฝ่ายไทย 
ระดับพระราชวงศ์ 
(1) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ก.ย. 2537 (ค.ศ. 1994) 

(2) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนแทนซาเนียตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ UNHCR เพื่อทอดพระเนตรโครงการของ Refugee Education Trust ที่เมือง Kigoma เมื่อเดือน มี.ค. 2546 (ค.ศ. 2003) 

ระดับรัฐบาล 
(1) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน มี.ค. 2536 (ค.ศ. 1993) 

(2) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค. 2549 (ค.ศ. 2006) 

(3) นายปรีชา ผ่องเจริญกุล ประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนแทนซาเนียระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงลู่ทางการดำเนินธุรกิจอัญมณี 

(4) นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา  นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนแทนซาเนียระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุน 

ฝ่ายแทนซาเนีย 
(1) นาย Julius Nyerere อดีตประธานาธิบดีแทนซาเนียในฐานะประธาน South Commission เดินทางเยือนไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2531 (ค.ศ. 1988) และเข้าพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายพงษ์ สารสิน) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

(2) นาย Joseph F. Mbwiliza รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำ พลังงาน และเหมืองแร่แทนซาเนีย เดินทางเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือน มี.ค. 2537 (ค.ศ. 1994) เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการ Bangkok Gems and Jewelry Fair ตามคำเชิญของกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าเยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ) 

นาย Frederick T. Sumaye นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. 2541(ค.ศ. 1998) 

นาย Edward Lowassa นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย. 2549 (ค.ศ. 2006) 

นายมิเซ็นโก พินดา (Mizenko Pinda) นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเดินทางแวะผ่านไทย เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2553 (ค.ศ. 2010)

 

ที่มา: กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=54#4