ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูกันดา

ความสัมพันธ์ทั่วไป 
ไทยและยูกันดาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528 (ค.ศ. 1985) โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ดูแลยูกันดา และแต่งตั้งนาย James Mulwana เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำยูกันดา ส่วนฝ่ายยูกันดาได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตยูกันดาประจำสาธารณรัฐอินเดีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย ขณะนี้ ฝ่ายยูกันดาอยู่ระหว่างการสรรหากงสุลกิตติมศักดิ์ยูกันดาประจำไทย แทนที่นายทวี บุตรสุนทร ซึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2554 (ค.ศ.2011) ที่ผ่านมา ไทยและยูกันดามีความสัมพันธ์ราบรื่น โดยยูกันดาชื่นชมไทยในฐานะเป็นแบบอย่างการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม 

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ 
การค้าระหว่างไทยกับยูกันดายังมีมูลค่าไม่มากแต่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ปี 2554 (ค.ศ. 2011) มูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 19.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยเป็นฝ่ายส่งออก 17.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 2.17ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 15.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกที่สำคัญ   ของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าที่สำคัญจากยูกันดา ได้แก่ ด้ายและเส้นใย สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ชา กาแฟ และเครื่องเทศ 

ภาครัฐได้จัดคณะไปสำรวจโอกาสการลงทุนในยูกันดาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) กรมส่งเสริมการส่งออกนำคณะนักธุรกิจเยือนยูกันดา เยเมน ซูดาน และเอธิโอเปีย ระหว่างวันที่  5-17 กรกฏาคม 2553 (ค.ศ. 2010) (2) BOI นำคณะนักธุรกิจเยือนเคนยาและยูกันดาเพื่อสำรวจโอกาสการลงทุน วันที่ 25-29 เมษายน 2554 (ค.ศ. 2011) (3) อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกานำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนยูกันดา ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2554 (ค.ศ. 2011) จากการเยือนข้างต้น ฝ่ายไทยเห็นว่า ยูกันดามีศักยภาพด้านการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรม การแปรรูผลิตภัณฑ์เกษตร และการท่องเที่ยว เนื่องจากมีภูมิประเทศที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี ยังไม่ค่อยมีนักลงทุนไทยสนใจลงทุนในยูกันดามากนัก เนื่องจากการที่ยูกันดาไม่มีทางออกทะเลทำให้ค่าขนส่งสินค้าค่อนข้างสูง 

ความร่วมมือทางวิชาการ 
ไทยมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับยูกันดาในลักษณะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) โดย สพร. ได้เวียนทุนฝึกอบรม (Annual International Training Course - AITC) ให้ยูกันดาพิจารณาส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ หน่วยงานราชการของยูกันดาสนใจมาศึกษาดูงานด้านต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น 

ชาวยูกันดาที่มีฐานะดีนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในหลักสูตรนานาชาติที่ประเทศไทยมากขึ้น 

การเยือนของผู้นำระดับสูง 
ฝ่ายไทย
 
(1) นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนยูกันดาเพื่อส่งเสริมและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและยูกันดาร่วมทั้งเป็นประธานเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทย (Thai Distribution Center) ณ กรุงกัมปาลา ระหว่างวันที่ 23 - 24 มิถุนายน 2548  (ค.ศ. 2005) 

(2) นายโฆษิต ฉัตรไพบูรณ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนาย Yoweri Museveni เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2554 (ค.ศ. 2011) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย 

(3) นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา 
นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนยูกันดาระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุน 

(4) พลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภานำคณะผู้แทนรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 126 ที่ยูกันดา ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2555 (ค.ศ. 2012) 

ฝ่ายยูกันดา 
ระดับพระราชวงศ์
 
 (1) สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบูกันดา (Kabaka Ronald Muwenda Mutebi ll) เสด็จฯ เยือนไทย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบูกันดาในวันที่ 30 สิงหาคม 2548 

สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ได้ทอดพระเนตรศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร รวมทั้งโครงการหลวงห้วยฮ่องไคร้และดอยอินทนนท์ ระหว่างเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม – 3 กันยายน 2548 (ค.ศ. 2005) 

ระดับรัฐบาล 
ประธานาธิบดี 

- เมื่อวันที่ 25 - 28 กันยายน 2546 (ค.ศ. 2003) นาย Yoweri Museveni ประธานาธิบดียูกันดา เยือนไทยก่อนเดินทางเข้าร่วมประชุม Tokyo International Conference on African Development (TICAD) ครั้งที่ 3  ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสพบหารือนายกรัฐมนตรี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับผู้นำระหว่างสองประเทศ  และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ยังได้พบปะผู้แทนภาคเอกชนไทย อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (the Joint-Standing Committee on Trade, Industries and Banking) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในยูกันดาในด้านต่าง ๆ ภาคเอกชนยูกันดาที่ร่วมอยู่ในคณะฯ อีก 60 คน ยังได้พบเจรจากับภาคเอกชนของไทยซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการค้าและ การลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ 

- เมื่อวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Yoweri Museveni เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยโรคเอดส์  ครั้งที่ 15 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไทยและยูกันดาเป็นสองประเทศที่ได้รับคำชมเชยจากสหประชาชาติในความสำเร็จด้านการป้องกันและบำบัดโรคเอดส์ 

รองประธานาธิบดี 
- เมื่อวันที่ 15 - 20 กันยายน 2549 (ค.ศ. 2006) Professor Gilbert Balibaseka Bukenya  รองประธานาธิบดียูกันดา นำคณะเยือนประเทศไทย 

รัฐมนตรี 
- เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 (ค.ศ. 1993) นาย Ally M. Kirunda – Kivejinja รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดีกิจการต่างประเทศเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมอบสาส์นจากประธานาธิบดียูกันดาและขอเสียงสนับสนุนให้แก่ผู้แทนยูกันดาซึ่งสมัครเป็นรองผู้อำนวยการ International Organization for Migration (IOM) 

- เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2537 (ค.ศ. 1994) นาย Richard H. Kaijuka รัฐมนตรีการค้า และอุตสาหกรรมยูกันดา และนาย James Mulwana กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำยูกันดา เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

- เมื่อวันที่ 11 - 20 กุมภาพันธ์ 2543 (ค.ศ. 2000) นาย Moses Ali  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยว การค้าและอุตสาหกรรมยูกันดา เยือนไทยเพื่อเข้าร่วม การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ครั้งที่ 10   

- เมื่อวันที่ 11 - 15 สิงหาคม 2545 (ค.ศ. 2002) นาย Gerald Sendaula รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การวางแผน และการพัฒนาเศรษฐกิจยูกันดาและคณะเยือนไทย เพื่อชักชวนนักธุรกิจไทยไปลงทุนในยูกันดา 

- เมื่อวันที่ 8 - 22 ธันวาคม 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Omwony Ojwok รัฐมนตรีแห่งรัฐดูแลเรื่องเศรษฐกิจ (Minister of State in Charge of Economic Monitoring) และคณะเดินทางมาประเทศไทย เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตร รวมทั้งความร่วมมือทางวิชาการและบทบาทของภาครัฐในกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย   

- เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548 (ค.ศ. 2005) นาย Ezra Suruma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วางแผน และการพัฒนาเศรษฐกิจเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ) ได้เข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) และเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวราเทพ รัตนากร) ในวันเดียวกันด้วย 

- เมื่อวันที่ 20 - 25 เมษายน 2549 (ค.ศ. 2006) นาย Khiddu Makubuya รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอัยการสูงสุดเป็นผู้แทนรองประธานาธิบดียูกันดา เพื่อศึกษาดูงานด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์

ที่มา: กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=76#4