ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก

 

ความสัมพันธ์ทั่วไป 
ไทยและเคนยาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2510  (ค.ศ. 1967) โดยไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงไนโรบี เมื่อปี 2521 เอกอัครราชทูตไทยประจำเคนยา คนปัจจุบัน คือ นายอิทธิพร บุญประคอง ส่วนเคนยาได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตเคนยาประจำประเทศไทยเมื่อเดือน ต.ค. 2549 (ค.ศ. 2006) และได้มอบหมายให้ นาย Richard Titus Ekai เป็นเอกอัครราชทูตเคนยาประเทศไทยคนแรกจนถึงปัจจุบัน 

ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ราบรื่น เคนยาจัดเป็นประเทศที่มีความสำคัญที่สุดประเทศหนึ่งสำหรับไทยในทวีปแอฟริกา โดยมีศักยภาพเป็นหุ้นส่วนหลักทางยุทธศาสตร์ของไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม 

เคนยาเป็นประเทศแอฟริกาประเทศเดียวมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission - JC) กับไทย โดยได้จัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย. 2553 (ค.ศ. 2010) ที่กรุงไนโรบี ที่ประชุมได้ตกลงที่จะสำรวจลู่ทางเพิ่มปริมาณการค้า และจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินการดังกล่าว และเร่งรัดการจัดทำความตกลงด้านต่างๆระหว่างกันที่คั่งค้างอยู่ 

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ 
เคนยาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ในปี 2554 
(ค.ศ. 2011) ไทยและเคนยามีมูลค่าการค้ารวม 189.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังเคนยา 173.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าสินค้าจากเคนยา 15.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้เปรียบดุลการค้า 157.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปเคนยาที่สำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าว ส่วนสินค้านำเข้าจากเคนยาที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เหล็ก เหล็กกล้า 

เคนยาสามารถเป็นประตูสู่ประเทศแอฟริกาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม EAC 
และประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล อาทิ ซูดานใต้ เอธิโอเปีย และยูกันดา เนื่องจากสายการบิน Kenya Airways มีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-ไนโรบี 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ 

การลงทุนระหว่างไทยและเคนยายังมีไม่มากนัก เนื่องจากเคนยามีค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าไฟฟ้า แรงงาน สูงกว่าประเทศรอบข้าง ธุรกิจไทยที่ลงทุนในเคนยาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ได้แก่ ร้านอาหาร สปา และการขุดเจาะน้ำบาดาล 

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา 
ยุทธศาสตร์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย 2555-2558 ได้กำหนดให้เคนยาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไทยควรให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น เคนยาจึงที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในโครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) ของ สพร. เป็นประจำทุกปีในหลายสาขา อาทิ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม เกษตรกรรม และสาธารณสุข  นอกจากนี้ ในการประชุม  JC ครั้งที่ 1 ฝ่ายไทยได้เสนอทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน 10 ทุน และทุนฝึกอบรมจำนวน 10 ทุน ให้แก่ฝ่ายเคนยา ตามสาขาที่เคนยาสนใจ 

ไทยและเคนยามีนโยบายขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน รัฐบาลเคนยามี 
ความประสงค์ที่จะขยายตลาดนักท่องเที่ยวจากเอเชีย รวมทั้งต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยในกรอบ New Asian African Strategic Partnership (NAASP)  ไทยและเคนยาได้รับมอบหมายให้เป็น champion countries (ร่วมกับโมร็อกโกและอียิปต์) ในสาขาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 

การเยือนที่สำคัญ 
ฝ่ายไทย 
ระดับพระราชวงศ์ 
(1) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนเคนยาเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีประศาสน์การของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระหว่าง 
วันที่ 29 ก.ค. – 9 ส.ค. 2533 (ค.ศ. 1990) 

(2) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แวะเคนยา เป็นการส่วนพระองค์ ในวันที่ 18 มี.ค. 2546 (ค.ศ. 2003) ก่อนเสด็จฯ เยือนแทนซาเนีย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ UNHCR (วันที่ 18-21 มี.ค. 2546) 

(3) สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเคนยา ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. – 3 ต.ค. 2546 (ค.ศ. 2003) 

(4) พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเยือนสาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ย. 2552 (ค.ศ. 2009) เพื่อเข้าร่วมการประชุม UN Regional Preparatory Meeting 
ของทวีปแอฟริกา ณ กรุงไนโรบี 

ระดับรัฐบาล 
(1) พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2527 (ค.ศ. 1984) โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับประธานาธิบดี Moi และรัฐมนตรีต่างประเทศเคนยา 

(2) ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 
เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย. 2532 (ค.ศ. 1989) 

(3) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. 2536 (ค.ศ. 1993) และได้มีการลงนามความตกลงการค้าระหว่างไทยกับเคนยา 

(4) ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1999) โดยมีวัตถุประสงค์ 
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อขอเสียงสนับสนุนในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) 

(5) คณะสำรวจข้อเท็จจริงของไทย นำโดยนายปกศักดิ์ นิลอุบล อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เยือนเคนยาระหว่างวันที่ 16-17 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1999) 

(6) นายทวี บุตรสุนทร ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนำคณะผู้แทน 
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเยือนเคนยา เมื่อเดือน เม.ย. 2545 (ค.ศ. 2002) 

(7) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ 
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Nairobi Summit: A Mine-Free World ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2547 (ค.ศ. 2004) 

(8) นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเคนยาระหว่าง 21-22 มิ.ย. 2548 เพื่อส่งเสริมและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเคนยา ร่วมทั้งเป็นประธานเปิดการประชุม AIDS Workshop เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2548 (ค.ศ. 2005) 

(9) นายกรัฐมนตรี (พ.ต.อ. ทักษิณ ชินวัตร) เยือนเคนยาระหว่าง 8-10 พ.ย. 2548 (ค.ศ. 2005) 

(10) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์) เยือนเคนยา ระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. 2553 (ค.ศ. 2010) เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเคนยาครั้งที่ 1 และการประชุมเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกา และได้เข้าเยี่ยมคารวะ ประธานาธิบดีเคนยา (นาย Mwai Kibaki) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเคนยา (นาย Henry Kiprono Kosgey) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเคนยา (นาย Moses Wetangula) 

(11) นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนเคนยาระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุน 

ฝ่ายเคนยา 
(1) ประธานาธิบดี Daniel arap Moi เดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับโลก 
เรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All) ระหว่างวันที่ 5-9 มี.ค. 2533 (ค.ศ. 1990) โดยรัฐบาลไทยรับเป็นแขกรัฐบาล 1 วัน 

(2) นาย Wilson Ndolo Ayah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเคนยาเยือนไทย 
ระหว่างวันที่ 18-21 ส.ค. 2534 (ค.ศ. 1991) 

(3) นาย Nicholas Kipyator Kiprono Biwott รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยว การค้า 
และอุตสาหกรรมเคนยา เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 12-19 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1990) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ครั้งที่ 10 

(4) คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเคนยา ซึ่งประกอบด้วย นายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่พลเรือนระดับผู้บริหาร จำนวน 14 คน ได้เดินทางมาทัศนศึกษาและดูงานด้านต่าง ๆ 
ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 2543 (ค.ศ. 2000) 

(5) Dr. C. Murungaru รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านการบริหารส่วนภูมิภาคและความมั่นคงแห่งชาติ สังกัดสำนักประธานาธิบดี (Minister of State in charge of Provincial Administration and National Security) และคณะ เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-19 ก.ย. 2546 (ค.ศ. 2003) เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญากรุงออตตาวา ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ 

(6) นาย Kalonzo Musyoka รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเคนยา เดินทางเยือนภูเก็ตเป็นการส่วนตัว เมื่อวันที่ 1-3 ม.ค. 2547 (ค.ศ. 2004) 

(7) นาง Esther Mshai Tolle ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเคนยาในฐานะเลขาธิการของ 
การประชุม Nairobi Summit on a Mine-Free World เดินทางเยือนไทยและเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2547 (ค.ศ. 2004) 

(8) คณะวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเคนยาได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2-9 ต.ค. 2547 (ค.ศ. 2004) 
(9) นาย Mwai Kibaki ประธานาธิบดีเคนยาเยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค. 2547 (ค.ศ. 2004) 

(10) นาย Raila Amollo Odinga นายกรัฐมนตรีเคนยาเยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล 
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 (ค.ศ. 2010) 

(11) นาย Mwai Kibaki ประธานาธิบดีเคนยา เดินทางแวะผ่านประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เม.ย. และ 3 พ.ค. 2553 และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศมอบกระเช้าของที่ระลึกเพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิต 

(12) นาย James Gesami รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสุขาภิบาล เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 25-29 ม.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อเข้าร่วมการประชุม Global Forum on Human Resources for Health ครั้งที่ 2 และได้เยี่ยมชมการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม 

(13) นาย Romano M. Kiome ปลัดกระทรวงเกษตรเคนยา และคณะ เยือนไทยเพื่อศึกษาดูงาน ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. 2554 

(14) นาย Anyang Nyong’o รัฐมนตรีว่าการกระทรวงบริการทางการแพทย์ เยือนไทย 
เพื่อเข้าร่วมการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ระหว่างวันที่ 24- 28 ม.ค. 2555 

(15) คณะวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเคนยาเดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-28 เม.ย. 2555

 

ที่มา: กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ 

http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=63#4