การจัดกิจกรรมจิตอาสาโดยการปลูกป่า ณ Karura Forest กรุงไนโรบี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

การจัดกิจกรรมจิตอาสาโดยการปลูกป่า ณ Karura Forest กรุงไนโรบี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ย. 2566

| 400 view

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ได้จัดกิจกรรมจิตอาสา โดยการปลูกป่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2564 โดยมี น.ส. ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และทีมประเทศไทยพร้อมคู่สมรสและครอบครัว ตลอดจนตัวแทนชุมชนชาวไทยในเคนยาเข้าร่วม รวมประมาณ 30 คน

โดยในวันดังกล่าวได้มีการปลูกต้นไม้ 7 ต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ได้แก่ ต้นสัก (Elgon Teak) ต้นมะฮอกกานี (Mahogany) ต้นโอ๊ค (Meru Oak / Silver Oak) ต้นสน (Podocarpus) และต้นมะเดื่อ (Strangler Fig) เป็นต้น และได้บริจาคเงินให้กับ Karura Forest เพื่อปลูกเพิ่มอีก 82 ต้น รวมเป็น 89 ต้น โดยมีกำหนดปลูกในช่วงฤดูฝนของเคนยาประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2565

ทั้งนี้ Karura Forest ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตั้งแต่ปี 2475 ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงไนโรบี มีพื้นที่กว่า 1,041 เฮกเตอร์ (ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร) เปรียบเสมือนปอดขนาดใหญ่ของกรุงไนโรบี โดย Karura Forest มีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสถานที่ที่ศาสตราจารย์ Wangari Maathai สตรีเคนยาและเป็นสตรีชาวแอฟริกันคนแรกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้อนุรักษ์ Karura Forest ท่ามกลางแรงกดดันจากการขยายตัวของเมือง และ Karura Forest มีความสำคัญในเชิงระบบนิเวศวิทยา โดยเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากลายทางชีวภาพมากที่สุดในกรุงไนโรบี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ